นครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม


Nakhon Si Thammarat : Cultural Heritage Learning City


มรดกทางวัฒนธรรม >> วัดประดู่พัฒนาราม



ชื่อมรดกทางวัฒนธรรม : วัดประดู่พัฒนาราม
วัดประดู่พัฒนาราม หรือ วัดโด (เรียกตามต้นประดู่ที่ขึ้นอยู่จำนวนมาก) สร้างโดยเจ้าพระยานครพัฒน์ สถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เก่งจีน หรือ “เก๋งพระเจ้าตาก” (ตึกเจ้าตาก) ที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ภายในมีบัวพระอัฐิ 3 ชั้น ยอดบนเป็นดอกบัวตูม (พุ่มข้าวบิณฑ์) ย่อมุมไม้สิบสองปิดทอง ซึ่งบัวนี้สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ หรือวังหน้าสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ร่วมกับเจ้าพระยานคร (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเชื่อว่าเป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเมื่อเจ้าพระยานครน้อยถึงอสัญกรรม เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) ก็นำอัฐิของพระบิดารวมกับพระอัฐิของพระอัยกา (ปู่) ในบัวทรงเจดีย์เดียวกัน สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2385 ซึ่งตัวอาคารเก๋งจีนเป็นผนังก่ออิฐถือปูนทึบทั้งสามด้าน แต่ด้านหน้าเป็นเครื่องไม้แกะสลักลวดลายมังกร 5 เล็บ 1 คู่ และฉลุลวดลายสัตว์รูปหงส์ร่อน รูปไก่ฟ้าทองคำ รูปนกกะเรียนขาว และลานพรรณพฤกษาลายดอกโบตั๋น คานและเสามีลักษณะเหลื่อมซ้อนกันโดยใช้ตะปูไม้เป็นตัวยึด และใช้การเจาะร่องเสาเพื่อรองรับคาน เครื่องบนเป็นเครื่องไม้ หลังคาทรงจั่วเรียบ มุงกระเบื้องดินเผา และด้านข้างมีการแกะสละลายบัวหลวงพร้อมก้าน
ภายในวัดยังมีศาลาประดิษฐานรูปเคารพ สมเด็จพระอริยวงษญาณหรือสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) “พระสังฆราช 3 แผ่นดิน” ซึ่งมีพรรษาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ศาลาจงศิริ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นรูปเคารพหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด และอดีตเจ้าอาวาส ตลอดจนพระอุโบสถดั้งเดิม หรือ “โบสถ์มหาอุตม์” แบบอยุธยา พระเจดีย์วัดประดู่ฯ ซึ่งใต้ฐานมีอาคารที่จัดแสดงพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2561 มีพระพุทธสิหิงค์ ศิลปะแบบขนมต้มอย่างเมืองนครศรีธรรมราช ที่มีฐานชุกชีประดับตาม “นโม” อันเป็นอักษรปัลวะจากอินเดีย
พื้นที่ : ย่านท่าตีน
เวลาที่บริการ : 07.00 - 20.00 น.
แหล่งอ้างอิง : ปรีดา นัคเร สุภาวดี พรหมมา ลดาวัลย์ แก้วสีนวล ศิรินันท์ พันธรักษ์ พรศิลป์ บัวงาม และ ปุณยวีร์ ศรีรัตน์. (2566). คู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม นครศรีธรรมราช. https://www.nakhonsi.org/travel_route_guide.pdf


Counter of page 300