นครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม


Nakhon Si Thammarat : Cultural Heritage Learning City


มรดกทางวัฒนธรรม >> กุฏิทรงไทย


 

ชื่อมรดกทางวัฒนธรรม : กุฏิทรงไทย
กุฎิทรงไทย ตั้งอยู่ในวัดวังตะวันตก สร้างขึ้นโดยพระครูกาชาด (ย่อง) ร่วมกับบรรดาญาติโยม สานุศิษย์ในระหว่างปีพ.ศ. 2431 - 2438 เพื่อเป็นที่พักของสงฆ์ เป็นเรือนเครื่องสับฝากระดานหลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบ ประกอบด้วยกุฎิสงฆ์สองหลังวางขนานกันซ้ายและขวา ใช้ชานที่มีหลังคาเป็นตัวเชื่อม ทำให้ภาพรวมของอาคารประกอบไปด้วยหลังคาจั่วสามผืนเรียงรายดูเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันเป็นหมู่กุฎิมีความกว้างรวม 17.05 เมตร เฉพาะหมู่กุฎิมีความยาวรวม 9.70 เมตร หากรวมกับครัวขวางด้านหลังยะยาว 13.75 เมตร เดิมทีกุฎิทรงไทยไม่ได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เห็นในปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่ด้านหลังหอไตรอินทสุวรรณ โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เช่นเดียวกับอาคารทุกๆ หลังในวัดวังตะวันตก จนกระทั่งในระหว่างปีพ.ศ. 2533 – 2536 จึงได้เกิดโครงการบูรณะหมู่กุฎิทรงไทยหลังนี้ โดยการถอดรื้อหมู่กุฎิและเรือนครัวมาประกอบกันขึ้นใหม่ในตำแหน่งที่เห็นในปัจจุบันโดยได้เปลี่ยนทิศทางการหันของหมู่กุฎิให้หันหน้าลงไปทางทิศใต้ หลังการบูรณครั้งนี้แล้วเสร็จทางสมาคมสถาปนิกสยามได้คัดเลือกหมู่กุฎิวัดวังตะวันตกแห่งนี้ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2536 ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอารามหมู่กุฎีทรงไทย และกรมศิลปกรได้ขึ้นทะเบียนหมู่กุฎิวัดวังตะวันตกเป็นโบราณสถาน ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 110 ตอนที่ 220 หน้าที่ 18-19 ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2536 โดยขึ้นทะเบียนตัวกุฎิ และบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ประมาณ 3 งาน 25 ¾ ตารางวา (สุรเชษฐ์ แก้วสกุล และคณะ, 2561)
พื้นที่ : วัดวังตะวันตก
เวลาที่บริการ : 08.30 - 17.00 น.
แหล่งอ้างอิง : สุรเชษฐ์ แก้วสกุล และคณะ. (2561). คัมภีร์พระนิพพานโสตร ตำนานแห่งพระบรมธาตุเมืองนคร และนานา ของดีที่วัดวังตะวันตกกลางเมืองนคร. นครศรีธรรมราช: พิมพ์ดี.


Counter of page 384